วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

นครราชสีมา ประกาศ"ปากช่อง"พื้นที่ภัยพิบัติ

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 15 ก.ย. นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.ปากช่อง เริ่มลดระดับลงแล้ว ซึ่งปภ.เขต 5 ได้ประกาศพื้นที่ อ.ปากช่อง เป็นพื้นที่เสี่ยงเขตภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ อ.เมือง ต.หนองบัวศาลา 3 หมู่บ้าน เกิดน้ำท่วมหนักในรอบ 10 ปี ราษฎรเดือดร้อนประมาณ 200 หลังคาเรือน และ ปภ.เขต 5 ได้ส่งเรือท้องแบนเข้าไปช่วยเหลือแล้ว 4 ลำ ทั้งนี้ ปภ.เขต 5 มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ของ จ.นครราชสีมาได้ออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยการแจกจ่ายถุงยังชีพสิ่งที่ ต.หมูสี และ ที่ อ.ปากช่อง รวมทั้งส่งเรือท้องแบนไปช่วยเหลือราษฏรด้วย
ขณะนี้น้ำที่ท่วมทั้ง อ.ปากช่องและ อ.เมือง ได้เริ่มลดระดับลงแล้วรวมทั้งบริเวณถนนมิตรภาพในเขต อ.ปากช่องก็ลดลงเช่นกัน ส่วนน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ ไหลท่วม ต.หมูสี และพื้นที่ อ.ปากช่อง ก็ได้ไหลลงไปยังอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งปัจจุบันลำตะคองยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก เพราะน้ำในอ่างยังไม่ถึง 50% ตนยังมั่นใจว่าน้ำจากลำตะคองฯจะไม่เอ่อล้นท่วมในเขตเทศบาลนคร เหมือนปี 2549
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ ปภ.เขต 5 ได้มีการจัดตั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และโคลนถล่ม ที่ ศูนย์ฯเพื่อการเตรียมการและประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย คอยให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อมีการร้องขอ พร้อมทั้งจัดชุดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และรับแจ้งเหตุที่โทรสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมีการจัดตั้งทีม ERT ซึ่งเป็นหน่วยเผชิญสถานการณ์วิกฤติ กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เตรียมพร้อมออกปฏิบัติงานได้ทันทีที่มีการร้องขอเข้ามา นอกจากนี้ทางศูนย์ ปภ.เขต5 ยังได้มีการจัดเตรียมหน่วยเตือนภัยธรรมชาติ หรือ มีสเตอร์เตือนภัยประจำในพื้นที่เสี่ยงทุกแห่งอีกด้วย
ด้านนายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง อ.สีคิ้ว เปิดเผยว่า จากภาวะฝนตกหนักที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง ทำให้น้ำป่าไหลลงสู่เขื่อนลำตะคองมากในระดับหนึ่งซึ่งก็เป็นผลดีต่อเขื่อนที่จะมีน้ำเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งปีหน้า ณ วันนี้ (15 ก.ย.)ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง อยู่ที่ 176 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 56 % ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 140 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ทางเขื่อนได้ปิดการระบายน้ำแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2551 เป็นต้นมา สำหรับระดับน้ำในคลองธรรมชาติของลำตะคองบริเวณใต้เขื่อนยังสามารถรองรับน้ำฝนได้อีกเพราะบางแห่งระดับน้ำยังอยู่ใต้ตลิ่งถึง 2 เมตรและยังสามารถระบายลงสู่แม่น้ำมูลที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติได้ดี ซึ่งในปีนี้น้ำในลำตะคองคงจะไม่เอ่อท่วมในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาแต่อย่างใด
นายจำลอง พินิจการ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย เปิดเผยว่า หลังเกิดฝนตกหนักเหนือเขื่อนทำให้น้ำฝนไหลลงเขื่อนลำพระเพลิง จนอยู่ที่ระดับ 92 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็ถือว่าเป็นปริมาณที่มากจนแตะปากกระโถนระบายน้ำ และทางเขื่อนลำพระเพลิงได้เร่งระบายน้ำออกไปทางระบายน้ำคอนกรีต 12 คิวต่อวินาที และผลักดันน้ำไปเก็บไว้ที่อ่างลำสำลายซึ่งตั้งอยู่ติดกับเขื่อนลำพระเพลิงเพื่อไว้ใช้ในฤดูแล้งปีต่อไป ซึ่งการระบายน้ำออกจากเขื่อนลำพระเพลิงในขณะนี้จะไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรอ.ปักธงชัยและอ.โชคชัย บริเวณใต้เขื่อนแต่อย่างใด เว้นแต่ว่าหากมีฝนตกลงมาเหนือเขื่อนเป็นจำนวนมากอีกก็อาจจะส่งผลกระทบบ้างแต่คงเป็นระยะสั้นเท่านั้น


By นางสาว กนกวรรณ ธาตุอินจันทร์ 4831205222

ไม่มีความคิดเห็น: