วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ข้อเสนอการทูตเชิงรุกกรณีปราสาทพระวิหาร



จากกรณีที่รัฐบาลกัมพูชาได้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมอาเซียน ยูเนสโก และสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้องค์กรเหล่านี้เข้ามามีบทบาทตัดสินกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับไทย นับเป็นการใช้ยุทธศาสตร์การทูตเชิงรุกอย่างชาญฉลาดยิ่ง ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานของไทยเป็นฝ่ายต้องตามแก้เกมที่กัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดไว้ จึงมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหาทางเดินเกมการทูตเชิงรุกบ้าง แต่ก่อนที่ฝ่ายไทยจะสามารถวางยุทธศาสตร์เชิงรุกได้ จำเป็นที่จะต้องถามก่อนว่าอะไรคือจุดอ่อนหรือจุดแข็งของไทยในกรณีนี้ และจะรุกไปเพื่อเป้าหมายอะไร
ผู้เขียนเห็นว่าในกรณีปราสาทเขาพระวิหาร จุดอ่อนของไทยในเวทีระหว่างประเทศก็คือจุดแข็งที่กัมพูชาใช้เดินเกม นั่นก็คือ ทัศนะของประชาคมโลกที่มองว่าปราสาทเขาพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลกนับแต่ปี พ.ศ. 2505 คำตัดสินของศาลโลกคือฐานรองรับความชอบธรรมของกัมพูชา แต่ฝ่ายไทยกลับปฏิเสธไม่ยอมรับคำตัดสินศาลโลกทั้งๆ ที่ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบมาตลอด 46 ปี
ประชาคมโลกยังมองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากปัญหาการเมืองภายในของไทยเอง ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลพยายามใช้กระแสชาตินิยมเพื่อล้มรัฐบาล ฉะนั้น จึงเสมือนว่ากัมพูชาต้องเดือดร้อนจากปัญหาของไทยเอง ส่วนเรื่องข้อพิพาทเหนือดินแดนทับซ้อนมิใช่ “ต้นตอ” ของความขัดแย้ง แต่ได้กลายมาเป็นประเด็นที่ทำให้ความขัดแย้งแก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น ทัศนะทำนองนี้สามารถดูได้จากสื่อในประเทศต่างๆ ที่นำเสนอข่าวข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา เช่น New York Times (21 July 08) The International Herald Tribune (20 July 08 ) สำนักข่าว AP (19 July 08) Reuter (20 July 08) แน่นอนว่ารัฐบาลกัมพูชาย่อมเห็นสิ่งนี้ และเชื่อว่าหมากทางการทูตของตนจะทำให้กัมพูชาได้รับความเห็นอกเห็นใจจากนานาชาติมากขึ้น
ฉะนั้น เป้าหมายเร่งด่วนของการทูตของไทยจึงต้องมุ่งไปที่การทำความเข้าใจและแสดงจุดยืนที่ชัดเจนกับนานาชาติว่า ปัญหาข้อพิพาทในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องตัวปราสาทเขาพระวิหารซึ่งรัฐบาลไทยเคารพต่อการตัดสินของศาลโลก แต่เป็นปัญหาพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนที่ยืดเยื้อมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม การผลักดันเพียงแค่นี้ยังไม่เพียงพอ
ผู้เขียนเห็นว่ายุทธศาสตร์การทูตเชิงรุกของไทยในขณะนี้ต้องประกอบด้วย ข้อเสนอที่สามารถยุติการเผชิญหน้าระหว่างไทยกับกัมพูชาที่เป็นไปได้ (practical) และเป็นข้อเสนอเชิงสันติที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่ายได้ด้วย การมีข้อเสนอเชิงสันติที่เป็นไปได้จะทำให้ประชาคมโลกเห็นว่า ประเทศไทยมิใช่รัฐอันธพาล แต่มุ่งมั่นหาทางออกเชิงสันติอย่างแท้จริง ในที่นี้ ผู้เขียนใคร่เสนอดังต่อไปนี้
ให้ทั้งสองฝ่ายประกาศให้ปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อนโดยรอบตัวปราสาทเป็นเขต “อุทยานสันติภาพ” (the Preah Vihear Peace Park) ที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลร่วมกัน โดยประสานงานกับคณะกรรมการมรดกโลก
ให้ทั้งสองฝ่ายค่อยๆ ถอนกำลังทหารออกจากบริเวณพื้นที่ทับซ้อน ให้คงเหลือเพียงกองกำลังผสมขนาดเล็กระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่ควรพกพาอาวุธสงคราม แต่มุ่งรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวในอนาคตเท่านั้น
รายได้จากการเช่าร้านค้าบริเวณปราสาทพระวิหาร ควรนำมาใช้เพื่อการดูแลปรับปรุงบริเวณ “อุทยานสันติภาพ”
ข้อเสนอข้อแรก วางอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่าตราบเท่าที่ทั้งไทยและกัมพูชายังคงยืนยันใช้เอกสารในการปักปันเขตแดนคนละฉบับกัน (ฝ่ายไทยใช้สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศสปี พ.ศ.2447 ที่กำหนดให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน ฝ่ายกัมพูชาใช้แผนที่ที่จัดทำโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนสมัยฝรั่งเศส) ทั้งสองฝ่ายย่อมไม่มีทางที่จะตกลงเรื่องเส้นเขตแดนกันได้ และไม่มีใครสามารถบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมรับเอกสารของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ อาเซียน หรือแม้แต่ศาลโลกที่กัมพูชากล่าวว่าจะนำไปฟ้องอีกครั้ง เพราะขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้เป็นคู่สัญญาของศาลโลกอีกต่อไป ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจบังคับใช้เหนือไทย
ฉะนั้น เมื่อลู่ทางในการปักปันดินแดนบริเวณนี้แทบไม่มีอยู่เลย หนทางเฉพาะหน้าที่ดีที่สุด และอาจรวมถึงระยะยาวด้วย ก็คือ การตกลงพัฒนาพื้นที่ร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งจะทำให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์อย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงสงวนสิทธิ์การอ้างอธิปไตยของตนเหนือพื้นที่ทับซ้อนไว้ได้
ฝ่ายไทยต้องตระหนักว่า ในขณะนี้กัมพูชากำลังเร่งพัฒนาถนนและทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหารจากฝั่งของกัมพูชา หากเราปล่อยให้ทางขึ้นทางฝ่ายไทยต้องถูกปิดตายเป็นเวลานาน เราจะสูญเสียโอกาสของการแสวงหาประโยชน์จากปราสาทเขาพระวิหารไปอย่างน่าเสียดาย ในทางกลับกัน ฝ่ายกัมพูชาก็คงไม่อยากเห็นมรดกโลกชิ้นใหม่ของตนนี้ต้องถูกปิดตายเป็นเวลานาน เพราะกว่าสาธารณูปโภคทางฝั่งกัมพูชาจะแล้วเสร็จ ก็ต้องใช้เวลานานหลายปี
เหตุผลของข้อเสนอที่ 2 ก็คือ การคงกองกำลังนับพันคนไว้ในระยะที่ค่อนข้างประชิดกันเป็นระยะเวลานาน ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพ แม้ว่าผู้นำของทั้งสองฝ่ายจะยืนยันว่าจะยึดมั่นในสันติวิธี ไม่ต้องการให้เกิดสงคราม แต่เราก็ต้องระวัง “อุบัติเหตุ” ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่นมีการทำปืนลั่น แล้วนำไปสู่ความเข้าใจผิด เป็นต้น รวมทั้งโอกาสของการก่อเหตุบริเวณชายแดนจากกลุ่มการเมืองในไทยก็ยังอาจเกิดขึ้นได้อีก
สำหรับข้อเสนอที่ 3 มุ่งแก้ปัญหาที่ฝ่ายไทยมองว่าร้านค้าชาวเขมรลุกล้ำเขตแดนของไทยหรือพื้นที่ทับซ้อน แต่หากนำรายได้จากการเช่าที่มาใช้เพื่อดูแลอุทยานสันติภาพ ย่อมถือว่าทั้งไทยและกัมพูชาได้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ ปัจจุบันสภาพของร้านค้าเหล่านั้นก็ทรุดโทรม ไม่น่าดู เมื่อปราสาทเขาพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ก็สมควรปรับปรุงให้มีสภาพที่ดีขึ้น และอนุญาตให้ทั้งผู้ค้าทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชามีสิทธิ์ขอเช่าที่ได้
ผู้เขียนเชื่อว่า ข้อเสนอที่มุ่งไปที่การจัดการพื้นที่ทับซ้อนนี้จะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดที่จะช่วยยืนยันกับนานาชาติว่า ประเทศไทยไม่ได้ต้องการเรียกร้องเอาปราสาทเขาพระวิหารคืน แต่มุ่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนรอบตัวปราสาทเท่านั้น และเป็นการกระทำอย่างอารยชนที่มีวุฒิภาวะทางการเมือง ซึ่งหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็ปฏิบัติเช่นนี้ รวมทั้งไทยกับมาเลเซียที่หันมาพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอ่าวไทย จนสามารถนำแก๊สธรรมชาติมาแบ่งปันกันใช้ในปัจจุบัน
การช่วงชิงผลักดันข้อเสนอเชิงสันติภาพนี้ จะทำให้เราเป็นฝ่ายมีบทบาทในการกำหนดเกมการทูตและแผนการพัฒนาร่วมกันได้มากขึ้น ประการสำคัญ นี่คือหนทางที่ทั้งสองฝ่ายมีแต่ได้ ขณะที่สงครามมีแต่จะนำความสูญเสียมาให้กับทุกฝ่าย มันจึงไม่ควรเป็นคำตอบสำหรับเราอีกต่อไป




เขียนโดย นาย เกียรติศักดิ์ เวียงเงิน ID : 5131601256

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

145 นักวิชาการออกแถลงการณ์ประณาม อันธพาลแก๊งถ่อยไล่ฆ่า ปชช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 ก.ค.) นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 145 คน ได้ร่วมกันแสดงจุดยืนออกแถลงการณ์ ประณามการใช้ความรุนแรงโดยแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้ แถลงการณ์ เรื่อง นักวิชาการประณามการใช้ความรุนแรง และเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า ขณะนี้ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง อันนำมาซึ่งความแตกแยกร้าวฉานในหมู่ประชาชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทยปัจจุบัน ที่น่าเศร้าและน่าวิตกอย่างยิ่ง ก็คือ ได้เกิดเหตุการณ์ที่ขบวนการทางการเมืองฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ใช้อาวุธเข้าทำร้ายฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ชุมนุมโดยสงบตามสิทธิที่มีอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ดังเหตุการณ์ที่จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดอุดรธานีนั้น เป็นการเข้าจู่โจมอย่างเห็นได้ชัดเจนว่า จงใจทำร้ายผู้ชุมนุมให้บาดเจ็บสาหัส หรือแม้กระทั่งให้เสียชีวิต และที่น่าเศร้าที่สุด ก็คือ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมาก โดยที่กลไกอำนาจรัฐเหล่านี้มิได้เข้าไปจัดการแก้ไขสถานการณ์แต่อย่างใดทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้นำรัฐบาลและผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบบางคนยังกล่าวในทำนองแก้ต่างให้ท้ายให้แก่การใช้ความรุนแรงเยี่ยงนั้นเสียด้วยซ้ำ


เขียนโดย นาย เกียรติศักดิ์ เวียงเงิน ID : 5131601256

“เตช” พ้อ! หนักใจเจรจาเขมร แต่ยันไทยไม่เสียดินแดน “พระวิหาร”

รมว.ต่างประเทศ ยอมรับการเจรจากับกัมพูชาในปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไม่ใช่เรื่องง่าย แม้กัมพูชาจะผ่านการเลือกตั้งเมื่อวานนี้ไปแล้ว ลั่นจะพยายามทำให้ดีที่สุด พร้อมมั่นใจไทยจะไม่เสียดินแดน เชื่อการหารือน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่ “ทูตไทย” การันตีไม่มีประท้วงจากชาวกัมพูชาแน่นอน วันนี้ (28 ก.ค.) นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวก่อนการเดินทางไปร่วมประชุมหารือกับ นายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กรณีปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร โดยยอมรับว่า รู้สึกหนักใจต่อกรณีนี้ แต่จะพยายามดำเนินการให้ดีที่สุด พร้อมทั้งให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยจะไม่สูญเสียพื้นที่ ซึ่งการเจรจาเป็นเรื่องยากแต่บรรยากาศความตึงเครียดน่าจะดีขึ้น ขณะเดียวกัน เห็นว่าการพูดคุยกับประเทศกัมพูชานั้นอาจจะไม่ง่ายนัก หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งของกัมพูชามาแล้วก็ตาม ในการเจรจาต้องมีการตกลงกันว่า การปรับพื้นที่ระหว่างไทย-กัมพูชาควรทำอย่างไร ส่วนเรื่องของการถอนทหารนั้น หากมีการถอนกำลัง ทั้งไทยและกัมพูชาก็ต้องถอนกำลังในสัดส่วนที่เท่ากัน รวมทั้งพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ทางกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีการท้วงติงมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยที่เดินทางประกอบด้วย พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร เจ้าหน้าที่จากกรมแผนที่ทหาร นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปร่วมประชุมระดับทวิภาคี รัฐมนตรีต่างประเทศไทยไทย-กัมพูชา เพื่อหารือปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน นายวีรพันธุ์ วัชราทิตย์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย และกัมพูชา ที่กำลังจะมีขึ้นที่เสียมราฐ ประเทศกัมพูชาว่า กัมพูชามีการจัดเตรียมสถานที่ไว้ค่อนข้างพร้อม มีการเตรียมห้องประชุมและห้องสำหรับเลขานุการทั้งสองฝ่าย ขณะที่การรักษาความปลอดภัย รัฐบาลได้ประสานงานมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเสียมเรียบแล้ว ส่วนที่มีความเป็นห่วงว่าจะมีการประท้วงกดดันหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน เพราะการชุมนุมที่นี่ต้องขออนุญาตต่อรัฐบาลก่อน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีกลุ่มไหนได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนในประเทศกัมพูชานั้นยังคงให้ความสนใจไปที่ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อวานนี้ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่แสดงความหวังว่าการเจรจาครั้งนี้น่าจะมีความคืบหน้าในทางที่ดีเกิดขึ้นบ้างด้วยเช่นกัน ขณะที่ พล.ต.กนก เนตระคเวสนา ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เปิดเผยถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ว่า ทหารไทยยังตรึงกำลังเข้มตามแนวชายแดน โดยมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังกันตลอดเวลา ซึ่งยังไม่มีการเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่แต่อย่างใด สถานการณ์ทั่วไปยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะที่ทหารไทย-กัมพูชาก็ยังมีการพูดคุยกันตามปกติ ทั้งนี้ ทหารทั้งสองฝ่ายต่างลุ้นผลการเจรจาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าผลการหารือจะออกมาอย่างไร ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี กล่าวด้วยว่า ขวัญและกำลังใจทหารนั้นยังดี ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่เขาพระวิหารก็ไม่ได้ตึงเครียดแต่อย่างใด



เขียนโดย นาย กีรติ์ กำปั่นทอง ID : 5131601247

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง

สืบเนื่องจากการที่ประเด็นเรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในการโค่นล้มรัฐบาลของ นรม. สมัคร สุนทรเวช และ "ระบอบทักษิณ" เป็นปัญหาของการเมืองภายในของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจที่มาและที่ไปของเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประวัติศาสตร์ และทางรัฐศาสตร์การเมือง



"ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์แผลเก่า" ระหว่าง "ชาติไทย" กับ "ชาติ กัมพูชา" ระหว่าง "ลัทธิชาตินิยมไทย" และ "ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา" แม้จะเกิดมานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นบาดแผลที่ไม่หายสนิท จะปะทุพุพองขึ้นมาอีก และถูกนำมาใช้ทางการเมื่อไรก็ได้ ในด้านของสยามประเทศ "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "การเมือง" และ "ลัทธิชาตินิยม" ในสกุลของ "อำมาตยาเสนาธิปไตย" ที่ถูกปลุกระดมและเคยเฟื่องฟูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกตอกย้ำสมัย "สงครามเย็น" ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (และก็ถูกสืบทอดโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และบรรดานายพลและอำมาตยาธิปไตยรุ่นต่อๆมา) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม "บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ" ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง "ปราสาท" ด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย ลาว มอญ พม่าที่สร้าง "ปราสาท" ด้วยอิฐและไม้ ความสามารถและความยิ่งใหญ่ของขะแมร์กัมพูชา เทียบได้กับชมพูทวีป กรีก และอียิปต์ สุดยอดของขะแมร์กัมพูชา คือ Angkor หรือ "ศรียโสธรปุระ-นครวัด-นครธม"
ขะแมร์กัมพูชา ก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ "ยโสวรมันที่ 1" ถึง "สุริยวรมันที่ 1" เรื่อยมาจน "ชัยวรมันที่ 5-6" จนกระทั่งท้ายสุด "สุริยวรมันที่ 2" และ "ชัยวรมันที่ 7" จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง) เขาพระวิหารจึง เป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขาหรือ "ศรีศิขเรศร" เป็น "เพชรยอดมงกุฎ" ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก ("พนมดงแร็ก" ในภาษาขะแมร์ แปลว่าภูเขาไม้คาน ซึ่งสูงจากพื้นดินกว่า 500 เมตร และเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 600 เมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ใน (เขต) จังหวัด "เปรียะวิเฮียร" (Preah Vihear) ของกัมพูชา เขาพระวิหาร น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ. 1974 (ค.ศ. 1431) คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา "เสียกรุง" ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา) ขะแมร์กัมพูชาต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับ และ "หนีเสือไปปะจระเข้" คือเวียดนามที่ขยายรุกเข้ามาทางใต้ปากแม่น้ำโขงแต่ประวัติศาสตร์โบราณเรื่องนี้ ไม่ปรากฏมีในตำราประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ของไทย (หรือของเวียดนาม) ดังนั้นคนในสยามประเทศ(ไทย) ส่วนใหญ่จึงรับรู้แต่เพียงเรื่องการ "เสียกรุงศรีอยุธยา" แก่พม่า (พ.ศ. 2112 และ 2310) แต่ไม่รู้เรื่องของ "เสียกรุงศรียโสธรปุระ" (พ.ศ. 1974) ของกัมพูชาทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ(ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง "ปราสาทเขาพระวิหาร" ไปประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น "อาณานิคม" ของตน และก็พยามยามเขมือบดินแดนของ "สยาม" สมัย ร.ศ. 112 ถึงขนาดใช้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10 กว่าปี จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งที่ทรงแต่งเรื่อง "ไกลบ้าน") จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัด นครธม หรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยการแลก "จันทบุรี ตราด และด่านซ้าย (เลย)" กลับคืนมา


เขียนโดย นาย กีรติ์ กำปั่นทอง ID : 5131601247

วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

PoliticGroup






รายชื่อสมาชิกกลุ่มงับ...



Name : Mr. Keeratee Kumpunthong

Nickname : Keeky
ID : 5131601247
School of : Law
Major : Law
Hobby : Play bastketball



Name : Kiattisak Wiangngern

Nickname : boy
ID : 5131601256
School of : Law
Major : Law
Hobby : Play football



Name : Miss Ganookwan thatinjun

Nickname : ann
ID : 4831205222

School of : Management

Major : Tourism management





Name : Miss Siwaporn Jantri

Nickname : pare
ID : 5131601599
School of : Law
Major : Law



Namw : Miss Sasiprapha Suksomboon
Nickname : pukpick
ID : 5131601505
School of : Law
Major : Law